มือใหม่หัดเลี้ยงบัว

มือใหม่หัดเลี้ยงบัว

การปลูกเลี้ยง
         แสงแดด   :  บัวเป็นพืชน้ำที่ต้องการแสงแดดจัด อย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อวัน หากอยู่ในที่ที่ร่มเกินไป ดอกจะออกน้อยลง ก้านใบก้านดอกจะเล็กไม่สมบูรณ์
         น้ำ    :   อ่างน้ำที่จะปลูกบัวควรมีความลึกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร จะทำให้บัวเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากว่าน้ำจะไม่ร้อนจัดจนเกินไปเมื่อถูกแสงแดด โดยลองเอามือจุ่มลงในน้ำ ต้องไม่รู้สึกร้อน
         เครื่องปลูก :   ดิน ดินเหนียวสำหรับปลูกบัว ดินปลูกต้นไม้ทั่วไปก็ได้ หรือใครอยากใช้ทรายก็สามารถใช้ได้แต่อาจจะเปลืองปุ๋ย
         ปุ๋ย  :  สามารถใช้ปุ๋ยสำหรับบัวโดยเฉพาะ หรือ ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ได้ 1-2 อาทิตย์ครั้ง โดยสังเกตดูหากใบเล็กลงหรือมีใบน้อยลงหรือดอกเล็กลงหรือไม่มีดอก แสดงว่าพืชได้รับอาหารน้อยไป ควรเพิ่มปริมาณปุ๋ย แต่อย่าใส่มากเกินไป ประมาณ ครึ่งช้อนชาสำหรับกระถาง 8 นิ้ว

ขั้นตอนการปลูกแบบง่าย ๆ 
สำหรับผู้ที่ต้องการขยายกระถาง
- เริ่มต้นด้วยการโรยปุ๋ย จะเป็น 16-16-16 หรือออสโมโคส หรือปุ๋ยบัว ก็ได้ ไว้ก้นอ่างที่เตรียมไว้ (อาจจะตามด้วยปุ๋ยคอกหรือไม่ก็ได้)
- นำกระถางบัว(กระถางเดิม) วางตรงจุดที่ต้องการจะวางบัว จากนั้นนำเครื่องปลูก (ดินเหนียวจะผสมปุ๋ยคอกหรือไม่ก็ได้) เติมรอบ ๆ กระถางจนระดับเครื่องปลูกเสมอกับเครื่องปลูกเดิมที่อยู่ในกระถาง
- นำกระถางบัวเดิมออกมา ก็จะมองเห็นเป็นช่องสำหรับใส่บัว ปล่อยทิ้งให้ดินเหนียวในอ่างหน้าดินเริ่มหมาด ๆ เพื่อไม่ให้น้ำขุ่นเวลาเติมน้ำ
- ถอดบัวที่อยู่ในกระถางออกมาวางในช่องที่เตรียมไว้กดดินรอบ ๆ ให้แน่น จากนั้นก็เติมน้ำให้เต็มอ่าง เป็นอันเสร็จพิธี

 สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกใหม่
- ทำเหมือนกับต้องการขยายกระถาง เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องทำช่องว่างสำหรับใส่บัว เตรียมเครื่องปลูกให้อยู่ในระดับที่ต้องการก็พอ
- หลังจากตั้งทิ้งไว้ให้ดินเหนียวหมาดแล้ว ก็ปลูกบัวที่เตรียมไว้ลงไป โดยถ้าเป็นบัวผัน บัวเผื่อน บัวหลวง ก็ให้ปลูกกลางอ่าง แต่ถ้าเป็นบัวฝรั่ง ก็ปลูกไว้ริมอ่างโดยหันยอดเข้าหากลางอ่าง เป็นอันเสร็จ

การดูแลรักษา  
         เพลี้ยอ่อน  : จะดูดน้ำเลี้ยงจากใบและดอก สังเกตว่าใบจะหงิก หรือเล็ก ไม่สมบูรณ์ จะเป็นเพลี้ยตัวเล็ก ๆ สีแดงหรือน้ำตาล เกาะอยู่ตามก้านใบหรือก้านดอกในส่วนที่โผล่พ้นน้ำ แพร่พันธุ์ได้เร็ว ควรฉีดพ่นด้วยมาลาไธออนเจือจาง ช่วงที่มีการระบาด 2-3 วันครั้ง สัก 3-4 ครั้งติดต่อกัน
         หนอน    :  จะกัดกินใบและดอก ต้องจับทิ้ง
         หอย   : ตัวเต็มไวจับทิ้งและกำจัดไข่ด้วยสารละลายคอปเปอร์ซัลเฟต(จุนสี) คัดไข่หอยทิ้ง โดยเมื่อพลิกใบจะเห็นไข่หอยเกาะอยู่มีลักษณะเป็นวุ้นใส ๆ บางทีอาจเกาะตามก้านใบหรือขอบอ่าง
         สาหร่ายและตะไคร่น้ำ  :  ดึงทิ้งและใส่สารละลายด่างทับทิมกำจัดอีกครั้ง

การขยายพันธุ์  แล้วแต่ชนิดของบัว  ได้ทั้ง เพาะเมล็ด แยกเหง้าหรือหัว หรือปักชำใบ(มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่สามารถชำใบได้ ต้องสังเกตตรงตัวใบหากมีปุ่มคล้ายหน่อยื่นอยู่ตรงที่ติดกับก้านแสดงว่าสามารถชำใบได้


ชนิดของบัว
วงศ์ MENYANTHACEAE  ได้แก่ สกุล Nymphoides
วงศ์ NELUMBONACEAE ได้แก่ สกุล Nelumbo
วงศ์ NYMPHAEACEAE ได้แก่ สกุล Nymphaea, Nuphar, Victoria


บัวหลวง (Nelumbo sp.) ขยายพันธุ์โดยการแยกไหลหรือเพาะเมล็ด






บัวนางกวัก (Nymphaea sp.) ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ




บัวฝรั่ง ( Nymphaea sp.)     ขยายพันธุ์โดยการแยกเหง้าหรือเพาะเมล็ด ต้องการอ่างที่ค่อนข้างลึก

บัววิคตอเรีย (Victoria sp.) ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ต้องการพื้นที่ค่อนข้างมาก



บัวผัน บัวเผื่อน (Nymphaea sp.)  ขยายพันธุ์โดยการแยกเหง้า  เพาะเมล็ด หรือชำใบ

บัวญี่ปุ่น (Nuphar japonica)
โพสต์เมื่อ :
2562-01-24
 59701
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์